วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

ศาลยุติธรรมไทย

ศาล เป็นองค์กรสาธารณะที่มีหน้าที่ในการวินิจฉัยข้อพิพาทเกี่ยวกับพลเมือง แรงงาน กิจการ และอาชญากรรมภายใต้กฎหมาย ในกฎหมายทั่วไปและกฎหมายพลเมือง ศาลนับว่าเป็นทางออกของข้อพิพาทต่างๆ เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ทุกๆ คนมีสิทธิ์ที่จะนำข้อกล่าวหามาใช้ในศาลได้ ในขณะเดียวกัน ผู้ถูกกล่าวหาก็มีสิทธิ์ที่จะแก้ต่างในศาลได้เช่นกัน
ศาลในประเทศไทย
ในประเทศไทย ศาลเป็นองค์กรซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดี โดยดำเนินการตาม
รัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ บรรดาศาลทั้งหลายจะตั้งขึ้นได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ
การตั้งศาลขึ้นใหม่เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งหรือคดีที่มีข้อหาฐานใดฐานหนึ่งโดยเฉพาะแทนศาลที่มีอยู่ตามกฎหมายสำหรับพิจารณาพิพากษาคดีนั้น จะกระทำมิได้
ตาม
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช ๒๕๔๐) ศาลมี 4 ประเภท คือ
1.ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นศาลสูงซึ่งวินิจฉัยข้อกฎหมายในกฎหมายรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่หลักคือพิจารณาวินิจฉัยว่ามีกฎหมายใดขัดแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตัวอย่างเช่น วินิจฉัยว่ากฎหมายนั้นๆ ขัดแย้งกับหลักพื้นฐานแห่งสิทธิและเสรีภาพหรือไม่ เป็นต้น
รายชื่อในบทความนี้เป็นของประเทศที่มีศาลรัฐธรรมนูญแยกเป็นเอกเทศ ยังมีอีกหลายประเทศที่ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญแยกเป็นเอกเทศ แต่มีผู้แทนในการพิจารณาคดีเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญใน
ศาลฎีกาอย่างไรก็ตาม ในบางครั้ง ศาลบางศาลก็ถูกเรียกว่า "ศาลรัฐธรรมนูญ" เช่น ศาลฎีกาแห่งสหรัฐอเมริกาถูกเรียกว่า "ศาลรัฐธรรมนูญที่เก่าแก่ที่สุดในโลก" เพราะว่าเป็นศาลแห่งแรกในโลกที่ยกเลิกกฎหมายที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ (คดีมาร์บูรี วี แมดิสัน) ถึงแม้ว่าศาลนี้จะไม่ได้แยกศาลรัฐธรรมนูญออกมาเป็นเอกเทศ เป็นต้น ประเทศออสเตรียเป็นประเทศแรกของโลกที่มีการแยกศาลรัฐธรรมนูญออกมาเป็นเอกเทศในปี ค.ศ. 1920 (ถึงแม้ว่าจะถูกเลื่อนชั่วคราว ตามรัฐธรรมนูญที่สร้างศาลขึ้นมา จาก ค.ศ. 1934 ถึง 1945) ก่อนหน้านั้น มีเพียงสหรัฐฯและออสเตรียเท่านั้นที่นำแนวคิดตุลาการภิวัฒน์ มาใช้ในศาลฎีกา
2.ศาลยุติธรรม (The Court of Justice) เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น
ศาลยุติธรรมมี 3 ชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา เว้นแต่ที่มีบัญญัติเป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญหรือตามกฎหมายอื่น
ศาลชั้นต้น ได้แก่ ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี ศาลจังหวัด ศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดให้เป็นศาลชั้นต้น เช่น ศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลล้มละลาย
ศาลอุทธรณ์ ได้แก่ ศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค
ศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลยุติธรรมสูงสุด ที่มีอยู่เพียงศาลเดียว
สำนักงานศาลยุติธรรม
สำนักงานศาลยุติธรรม เป็น
องค์กรอิสระที่ดูแลงานธุรการของศาลยุติธรรม มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีอิสระในการบริหารงานบุคคลการงบประมาณและการดำเนินการอื่น ตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยมีเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานศาลฎีกา
การแต่งตั้งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม
3.ศาลปกครอง (อังกฤษ: Administrative Court) เป็นศาลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 276 และมีการจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มีฐานะเทียบเท่าศาลยุติธรรมและมีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษา “คดีปกครอง” ซึ่งเป็นคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชนกรณีหนึ่ง และข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันอีกกรณีหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและเพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องในการปฏิบัติราชการ
ศาลปกครอง เป็นศาลที่ใช้ระบบไต่สวน โดยในแต่ละคดีจะมีการพิจารณาโดยองค์คณะของตุลาการ ต่างจากศาลยุติธรรมซึ่งใช้ระบบกล่าวหา ศาลปกครองแบ่งออกเป็น "ศาลปกครองชั้นต้น" และ "ศาลปกครองสูงสุด"
ศาลปกครองชั้นต้น
ศาลปกครองกลาง มีอำนาจตัดสินคดีในเขตกรุงเทพมหานคร และอีก 7 จังหวัดใกล้เคียง หรือคดีที่ยื่นฟ้องที่ศาลปกครองกลาง
ศาลปกครองในภูมิภาค ปัจจุบันมี 8 แห่ง ที่
ศาลปกครองเชียงใหม่ มีเขตอำนาจตลอดท้องที่จังหวัด
เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปางลำพูน
ศาลปกครองแพร่ มีเขตอำนาจตลอดท้องที่จังหวัด
น่าน พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์
ศาลปกครองสงขลา มีเขตอำนาจตลอดท้องที่
ตรัง พัทลุง สงขลา และสตูล และมีเขตอำนาจเพิ่มเติมในนราธิวาส ปัตตานี และยะลา
ศาลปกครอง นครราชสีมา มีเขตอำนาจตลอดท้องที่
ชัยภูมิและนครราชสีมา และมีเขตอำนาจเพิ่มเติมในบุรีรัมย์ ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ
ศาลปกครองขอนแก่น มีเขตอำนาจตลอดท้องที่
กาฬสินธุ์ ขอนแก่น และมหาสารคาม และมีเขตอำนาจเพิ่มเติมในนครพนม มุกดาหาร เลย สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี
ศาลปกครองพิษณุโลก มีเขตอำนาจตลอดท้องที่
กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลกเพชรบูรณ์ และสุโขทัย
ศาลปกครองระยอง มีเขตอำนาจตลอดท้องที่
จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด ปราจีนบุรี ระยองและสระแก้ว
ศาลปกครองนครศรีธรรมราช มีเขตอำนาจท้องที่
กระบี่ นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ตและสุราษฎร์ธานี และมีเขตอำนาจเพิ่มเติมในชุมพร และระนอง
ศาลปกครองสูงสุด มีอำนาจตัดสินคดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดโดยตรง หรือคดีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น
ที่ทำการศาลปกครอง อยู่เลขที่ 120 หมู่ที่ 3
ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ

4.ศาลทหาร ได้มีขึ้นเป็นของคู่กันมาตั้งแต่มีการทหารไว้ป้องกันประเทศ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบบศาลทหารไทยปรากฏตามกฎหมายลักษณะขบฎศึก จุลศักราช 796 ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 มีศาลกลาโหม ชำระความที่เกี่ยวกับทหารและยังชำระความพลเรือนด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากสมุหพระกลาโหมนั้นมิได้มีเพียงอำนาจหน้าที่เฉพาะการบังคับบัญชาทหารบก ทหารเรือ เท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่จัดการปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้ด้วย ศาลที่ขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมมีทั้งศาลที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพ และศาลในหัวเมืองฝ่ายใต้ด้วย ศาลกลาโหมจึงมีลักษณะเป็นทั้งศาลทหารและศาลพลเรือน
พ.ศ. 2434
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ปรับปรุงในเรื่องการศาลทั้งหมด โดยให้ตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้น และรวบรวมศาลซึ่งกระจัดกระจายสังกัดอยู่ในกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ เข้ามาสังกัดกระทรวงยุติธรรมจนหมดสิ้นทุกศาล ยกเว้นแต่เพียงศาลทหารเพียงศาลเดียวที่ยังคงให้สังกัดกระทรวงกลาโหมอยู่ตามเดิม ศาลในประเทศไทยจึงแบ่งได้เป็นศาลกระทรวงยุติธรรมกับศาลทหารนับแต่นั้นมา
ประเภทของศาลทหาร
ศาลทหารสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ
ศาลทหารในเวลาปกติ
ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ
ศาลอาญาศึก
คดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร
ศาลทหาร มีอำนาจ พิจารณาพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดอาญาซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารในขณะกระทำผิด สั่งลงโทษบุคคลใดๆ ที่กระทำผิดฐาน ละเมิดอำนาจศาล นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีอำนาจในการพิจารณาคดีอย่างอื่นได้อีกตามที่จะมีกฎหมายบัญญัติเพิ่มเติม ที่เคยมีมาแล้วเช่น ความผิดฐานกระทำการอันเป็นคอมมูนิตส์ เป็นต้น สำหรับอำนาจในการรับฟ้องคดีของศาลทหารแบ่งได้ดังนี้ ศาลจังหวัดทหารจะรับฟ้องคดีที่จำเลยมีชั้นยศเป็นนายทหารประทวน ศาลมณฑลทหารจะรับฟ้องคดีที่จำเลยมีชั้นยศตั้งแต่ชั้นประทวนจนถึงชั้นยศสัญญาบัตรแต่ไม่เกินพันเอก ส่วนศาลทหารกรุงเทพจะรับฟ้องได้หมดทุกชั้นยศ นอกจากนี้ชั้นยศจำเลยมีผลต่อการแต่งตั้งองค์คณะตุลาการที่จะพิจารณาคดีด้วย โดยองค์คณะตุลาการที่จะแต่งตั้งนั้นอย่างน้อยต้องมีผู้ที่มียศเท่ากันหรือสูงกว่าจำเลย
คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร
แยกเป็น 4 ประเภท คือ
ประเภทแรก ได้แก่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารกับบุคคลที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารกระทำผิดด้วยกัน
ประเภทที่สอง ได้แก่คดีที่เกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจ
ศาลพลเรือน
ประเภทที่สาม ได้แก่คดีที่ต้องดำเนินใน
ศาลเยาวชนและครอบครัว เนื่องจากอายุของผู้กระทำความผิด ซึ่งคงจะมีแต่เฉพาะนักเรียนทหาร
ประเภทที่สี่ ได้แก่คดีที่ศาลทหารเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร คดีประเภทนี้คงจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 2 ประการ ประการแรก คือ ได้มีการฟ้องคดียังศาลทหารแล้ว ประการที่สอง คือ เป็นคดีที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ในสามประเภทแรก
บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร
กลุ่มแรก ได้แก่ ทหาร แยกเป็น 2 ประเภท คือ
ทหารประจำการได้แก่ ทหารที่ยึดเอาการรับราชการทหารเป็นอาชีพ ซึ่งมีทั้งทหารประจำการชั้นสัญญาบัตร ชั้นประทวน และทหารที่ไม่มียศที่เรียกกันว่า พลทหารอาสาสมัคร
ทหารกองประจำการ คือ ทหารเกณฑ์ หรือทหารที่สมัครเข้ากองประจำการเพราะกฎหมายบังคับให้ต้องเป็นทหาร
กลุ่มที่สอง ได้แก่ นักเรียนทหาร หมายถึง นักเรียนทหารที่กำหนดขึ้นโดยกระทรวงกลาโหม เช่น นักเรียนนายร้อย นักเรียนนายเรือ
นักเรียนเตรียมทหาร นักศึกษาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้า นักเรียนทหารดังกล่าวหากมีอายุอยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องดำเนินคดีในศาลเยาวชนและครอบครัว หากพ้นเกณฑ์อายุก็จะต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหาร
กลุ่มที่สาม คือบุคคลที่มิได้เป็นทหาร จำแนกได้เป็น 3 ประเภท คือ
บุคคลที่เป็นข้าราชการกลาโหมพลเรือน เป็นลูกจ้างในสังกัดกระทรวงกลาโหม เมื่อกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการโดยมาจำกัดพื้นที่ หรือความผิดอาญาอื่นโดยจำกัดพื้นที่เฉพาะในบริเวณที่ตั้งหน่วยทหาร
บุคคลที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น พยานที่ถูกศาลทหารออกหมายจับมาเพื่อเบิกความ
บุคคลที่เป็น
เชลยศึกหรือชนชาติศัตรูในช่วงเวลาที่มีศึกสงคราม
การแต่งตั้งตุลาการ
ตุลาการศาลทหารสูงสุด และตุลาการศาลทหารกลาง ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งและถอดถอน
ตุลาการศาลทหารชั้นต้น และศาลประจำหน่วยทหาร
พระมหากษัตริย์ทรงมอบพระราชอำนาจแก่ผู้บังคับบัญชาทหาร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอน
ตุลาการในศาลทหารชั้นต้น ผู้มีอำนาจบังคับบัญชาจังหวัดทหาร เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาลจังหวัดทหาร ผู้มีอำนาจบังคับบัญชามณฑลทหาร เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาลมณฑลทหาร ผู้มีอำนาจบังคับบัญชาหน่วยทหาร เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาลประจำหน่วยทหารและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาลทหารกรุงเทพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น